วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การบัญญัติสิกขาบทของพระพุทธเจ้า (บัญญัติพระวินัย)

การบัญญัติสิกขาบทของพระพุทธเจ้า (บัญญัติพระวินัย)
การบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้ามีที่มาและมีขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้
ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดา เขตเมืองเวรัญชาพร้อมพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เวรัญชาพราหมณ์ได้เข้าไปพบพระผู้มีพระภาค หลังจากได้สนทนากันแล้วก็เกิดความเลื่อมใสแสดงตนเป็นอุบาสก

เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและอยู่ได้นาน
ครั้งนั้น พระสารีบุตรได้ไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นว่า ศาสนาของพระผู้มีพระภาคทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นานและพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน จึงได้เข้าไปทูลถามพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มีพระศาสนาของพระพุทธเจ้าอยู่สามพระองค์ที่ไม่ดำรงอยู่นาน และอีกสามพระองค์ที่ดำรงอยู่นาน
พระสารีบุตรจึงทูลถามถึงสาเหตุปัจจัยที่เป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า การที่ศาสนาที่ไม่ดำรงอยู่ได้นาน เพราะพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์ ทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้แสดงแก่สาวก เพราะอันตราธานแห่งพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตาม สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน เหมือนดอกไม้ต่างพรรณที่กองไว้ ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย กำจัดดอกไม้เหล่านั้นได้
การที่พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้นาน เพราะพระผู้มีพระภาคทั้งสาม มิได้ทรงท้อพระทัย เพื่อจะทรงแสดงพระธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามเหล่านั้น สาวกชั้นหลังจึงดำรงพระศาสนา ไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน เหมือนดอกไม้ต่างพรรณที่กองไว้ ใช้ด้ายร้อยไว้ดีแล้ว ลมย่อมกระจาย กำจัดดอกไม้เหล่านั้นไม่ได้

พระสารีบุตรปรารภให้ทรงบัญญัติสิกขาบท
เมื่อพระสารีบุตรได้สดับดังนั้น จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้วที่จะทรงบัญญัตสิกขาบท ที่จะทรงแสดงปาติโมกข์แก่สาวก อันจะเป็นเหตุให้พระศาสนานี้ยั่งยืน ดำรงอยู่ได้นาน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ให้รอก่อน เพราะพระตถาคตแต่ผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีย์นั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฎในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใด อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้น พระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น ขณะนี้ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ โดยภิกษุผู้บวชนาน ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภ ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนาน ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ถึงความเป็นอยู่ใหญ่เลิศโดยลาภแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้น พระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฎฐานิยธรรมเหล่านั้น
ก็ภิกษุสงฆ์นั้นไม่มีเสนียดไม่มีโทษ ปราศจากมัวหมอง บริสุทธิ์ผุดผ่อง ตั้งอยู่ในสารคุณ เพราะบรรดาภิกษุ 500 รูปนี้ ภิกษุที่ทรงคุณธรรมอย่างต่ำก็เป็น โสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

ปฐมปาราชิกสิกขาบท เรื่องพระสุทินน์
มีเศรษฐีบุตรผู้หนึ่งชื่อสุทินน์ เมื่อได้ออกบวชแล้วได้ไปเสพเมถุนธรรมกับภรรยาเก่าของตน ตามที่พ่อแม่ขอร้อง เพื่อให้มีบุตรไว้สืบสกุล เนื่องจาก พระสุทินน์ไม่ยอมกลับมาเป็นคฤหัสถ์ตามที่พ่อแม่ขอร้อง โดยอ้างว่า ถ้าพระสุทินน์ไม่มีทายาทไว้ พวกเจ้าลิจฉวีจะริบทรัพย์สมบัติของครอบครัวไป เนื่องจากหาบุตรผู้สืบสกุลไม่ได้ พระสุทินน์เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีโทษ เพราะสิกขาบทยังมิได้บัญญัติไว้ จึงได้เสพเมถุนธรรมกับภรรยาเก่าของตน จนนางตั้งครรภ์และได้คลอดบุตรมาชื่อว่า พีชกะ
ต่อมาพระสุทินน์ได้เกิดความรำคาญ ความเดือดร้อนว่า เราได้ชั่วแล้ว ไม่ได้ดีแล้ว เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย ์ ให้บริสุทธิได้ตลอดชีวิต เพราะความรำคาญนั้น เพราะความเดือดร้อนนั้น ทำให้ท่านซูบผอม เศร้าหมอง ผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสารซบเซาแล้ว
บรรดาภิกษุที่เป็นสหายของพระสุทินน์ เห็นอาการของพระสุทินน์เช่นนั้น จึงถามว่า การที่เกิดอาการดังกล่าว เป็นเพราะท่านไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์กระมัง
พระสุทินน์จึงได้แถลงความจริงว่า มิใช่ตนจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ แต่เป็นเพราะบาปกรรมที่ทำไว้ คือได้เสพเมถุนในภรรยาเก่า จึงได้มีความรำคาญความเดือดร้อนว่าเราได้ชั่วแล้ว เราไม่ได้ดีแล้ว เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต
บรรดาภิกษุที่เป็นสหายจึงกล่าวว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยเอนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพรากไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่นไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่น มิใช่หรือ เพื่อธรรมชื่อนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด คุณยังจะคิดเพื่อมีความกำหนัด เมื่อทรงแสดงเพื่อความพราก คุณยังจะคิดเพื่อความประกอบ เมื่อทรงแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น คุณยังจะคิดเพื่อมีความถือมั่น
ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยเอนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อนิพพาน
การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม พระผู้มีพระภาคตรัสบอกไว้แล้ว โดยเอนกปริยาย
การกระทำของคุณนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของคุณนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
ภิกษุเหล่านั้นติเตียน พระสุทินน์โดยเอนกปริยายดังนี้แล้วได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในพระเหตุเป็นมูลเค้านั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระสุทินน์ว่า
ดูกรสุทินน์ ข่าวว่าเธอเสพเมถุนธรรมในปุราณทุติยิกาจริงหรือ
พระสุทินน์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนั้นแล้ว ไฉนจึงไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า
ดูกร โมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยเอนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่นไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่นมิใช่หรือ เพื่อธรรมชื่อนั้นอันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อความถือมั่น
ดูกร โมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยเอนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ มิใช่หรือ
ดูกร โมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราบอกไว้แล้วโดยเอนกปริยาย มิใช่หรือ
ดูกร โมฆบุรุษ องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าไปในปากอสรพิษที่มีพิษร้าย ยังดีกว่าอันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าไปในปากงูเห่า อันเธอสอดเข้าไปในหลุมถ่านเพลิงที่ติดไฟลุกโชน ยังดีกว่าอันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดมาตุคาม ไม่ดีเลย
ข้อที่ว่าดีนั้น เพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าไปในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตายหรือความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุตติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิด เข้าในองค์กำเนิดมาตุคามนั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้เป็นเหตุ
ดูกร โมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้นมีโทษอยู่ เธอยังได้ชื่อว่าได้ต้องอสัทธรรม อันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นมรรยาทของคนชั้นต่ำอันชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่ อันคนคู่ร่วมกันเป็นไป เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลธรรม เป็นหัวหน้าของคนเป็นอันมาก การกระทำของเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระสุทินน์โดยเอนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม ปรารภความเพียร โดยเอนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือ เพื่อการรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจักบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นมาแสดงอย่างนี้ว่าดังนี้

พระปฐมบัญญัติ

ก็ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
ทุติยปาราชิกสิกขาบท เรื่องพระธนิยกุมภาการบุตร
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ พระธนิยกุมภการบุตรได้ทำกุฏิมุงบังด้วยหญ้า แล้วอยู่จำพรรษา เมื่อล่วงไตรมาสแล้ว ก็ยังคงอยู่ ณ ที่นั้นตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน ขณะที่พระธนิยเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาตร คนหาบหญ้า คนหาฟืนได้รื้อกุฎีนั้น แล้วขนหญ้าและใบไม้ไป พระธนิยะได้เที่ยวหาหญ้าและไม้มาทำกุฎีอีก ก็มีคนมาขนหญ้าและใบไม้ไปอีก
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นถึงสามครั้ง พระธนิยะจึงทำกุฎีสำเร็จด้วยดิน แล้วเผาจนสุก กุฎีนั้นก็งดงามน่าดูน่าชม มีสีแดงเหมือนแมลงค่อมทอง มีเสียงเหมือนเสียงกระดึง
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นจึงทรงติเตียนว่า ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ แล้วทรงให้ภิกษุสงฆ์ทำลายกุฎีนั้นเสีย และทรงบัญญัติว่า

อันภิกษุไม่ควรทำกุฎีที่สำเร็จด้วยดินล้วน ภิกษุใดทำต้องอาบัติทุกกฎ
กาลต่อมา พระธนิยะ ได้ไปหาพนักงานรักษาไม้ที่ชอบพอกัน แล้วแจ้งว่าจะขอไม้ไปทำกุฎีไม้ พนักงานรักษาไม้ตอบว่า ไม้ที่มีอยู่ มีแต่ไม้ของหลวงที่สงวนไว้สำหรับซ่อมแปลงพระนคร ซึ่งเก็บไว้ใช้ในคราวมีอันตราย ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสั่ง พระธนิยะจึงบอกว่าไม้เหล่านั้น พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแล้ว เจ้าพนักงานรักษาไม้ได้ฟังดังนั้นก็เชื่อ จึงให้ไม้แก่พระธนิยะไป
ต่อมาวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ในมคธรัฐไปตรวจราชการในกรุงราชคฤห์ ได้ทราบว่าพระธนิยะนำไม้ไป จึงไปทูลพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารสอบถามทราบเรื่องแล้วจึงถามพระธนิยะว่า พระองค์ได้พระราชทานไม้แก่พระธนิยะเมื่อใด พระธนิยะถวายพระพรว่า เมื่อครั้งพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ได้ทรงตรัสว่า หญ้า ไม้และน้ำ ข้าพเจ้าถวายแล้วแก่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ขอสมณและพราหมณ์ทั้งหลายโปรดใช้สรอยเถิด
พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสว่า คำกล่าวนั้นหมายถึงการนำหญ้า ไม้และน้ำในป่า ไม่มีใครหวงแหน แต่พระคุณเจ้านำไม้ที่เขาไม่ให้ไปด้วยเลศ ครั้งนี้พระคุณเจ้ารอดตัวเพราะบรรพชาเพศ แต่อย่าทำเช่นอีก
ประชาชนเพ่งโทษติเตียนโพนทนา
คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ไม่ละอาย ทุศีล พูดเท็จ พระสมณเหล่านี้ยังปฏิญาณว่าเป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม ติเตียน ว่าความเป็นสมณะและพราหมณ์ย่อมไม่มีแก่พระสมณเหล่านี้ ความเป็นสมณะและพราหมณ์เหล่านี้เสื่อมแล้ว และโพนทนาว่า พระสมณะเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะและพราหมณ์แล้ว แม้แต่พระเจ้าแผ่นดิน พระสมณะเหล่านี้ยังหลอกลวงได้ ไฉนจักไม่หลอกลวงคนอื่นเล่า
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อยสันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระธนิยะถึงเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ให้ไป แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแต่พระผู้มีพระภาค

ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุ เป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น
แล้วทรงสอบถามพระธนิยะว่า เธอได้ถือเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไป จริงหรือ
พระธนิยะทูลรับว่าจริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ การกระทำของเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
สมัยนั้น มหาอำมาตย์ ผู้พิพากษาเก่าคนหนึ่ง บวชในหมู่ภิกษุ พระองค์จึงได้ตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า พระเจ้าพิมพิสาร จับโจรได้แล้วประหารชีวิตเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง เพราะทรัพย์ประมาณเท่าไร
ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า เพราะทรัพย์บาทหนึ่งบ้าง เพราะของควรค่าบาทหนึ่งบ้าง เกินบาทหนึ่งบ้าง พระพุทธเจ้าข้า
แท้จริงสมัยนั้น ทรัพย์ 5 มาสกในกรุงราชคฤห์ เป็นหนึ่งบาท
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระธนิยะ โดยเอนกปริยายแล้ว จึงตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้านตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม ปรารภความเพียร โดยเอนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่าดังนี้

พระปฐมบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว
พึงประหารเสียบ้าง จองจำบ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยบริภาษว่าเจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง
เจ้าเป็นขโมย ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้
ตติยปาราชิกสิกขาบท เรื่องภิกษุหลายรูป
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงอสุภกถา ทรงพรรณาคุณอสุภสมาบัติเนื่องๆ โดย เอนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า เราปรารถนาจะหลีกออกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา นอกจากพระภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว
ระหว่างนั้น ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอสุภกถา......... ทรงพรรณาคุณแห่งอสุภสมาบัติเนืองๆ โดยเอนกปริยายดังนี้ แล้วพากันประกอบด้วยความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฎฐานหลายอย่าง หลายกระบวนอยู่ ภิกษุเหล่านั้นอึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตน ฉะนั้นจึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหามิคลัณฑิกสมณกุตต์ก็ขอให้ช่วยปลงชีวิตของพวกตน โดยให้บาตรจีวรเป็นเครื่องตอบแทน ครั้งนั้นได้มีภิกษุถูกปลงชีวิตไปเป็นจำนวนมาก

รับสั่งให้เผดียงสงฆ์
ครั้งล่วงกึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับซ่อนเร้น แล้วรับสั่งถามพระอานนท์ว่า เหตุไฉนภิกษุสงฆ์จึงดูเหมือนน้อยไป
พระอานนท์กราบทูลว่า เป็นเพราะพระองค์ทรงแสดงอสุภกถา....... ทรงพรรณาถึงอสุภสมาบัติเนืองๆ โดยเอนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันประกอบความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน เธอเหล่านั้น อึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตน จึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ภิกษุสงฆ์นี้จะพึงดำรงอยู่ในพระอรหัตผลด้วยปริยายใด ขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสบอกปริยายอื่นนั้นเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นเธอจงเผดียงภิกษุที่อาศัยพระนครเวสาลีอยู่ทั้งหมด ให้ประชุมกันที่ อุปัฏฐานศาลา
พระอานนท์จึงเผดียงภิกษุสงฆ์ที่อาศัยพระนครเวสาลีอยู่ทั้งสิ้น ให้ประชุมที่อุปัฏฐานศาลา แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าภิกษุสงฆ์พร้อมกันแล้ว ขอพระองค์ทรงทราบกาลอันควรเถิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แล อันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้นๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน ฉะนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตาม อยู่ ณโคนไม้ก็ตาม อยู่ในสถานที่สงัดก็ตาม นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติ บ่ายหน้าสู่กรรมฐาน ภิกษุนั้นย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาณาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ข่าวว่าพวกภิกษุปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง จริงหรือ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าจริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า การกระทำของภิกษุเหล่านั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ..... การกระทำของภิกษุเหล่านั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส........
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นโดยเอนกปริยายแล้ว จึงทรงติโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก....... ทรงสรรเสริญคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย....... โดยเอนกปริยาย แล้วทรงแสดงธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ.......
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึ่งยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงว่า ดังนี้

พระปฐมบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น
แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
จตุตถปาราชิกสิกขาบท เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้นภิกษุมากรูปด้วยกัน จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา สมัยนั้นวัชชีชนบท อัตคัดอาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย ภิกษุเหล่านั้นจึงคิดกันว่า พวกเรายังเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจะต้องไม่ต้องลำบากด้วยบิณฑบาต ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
ภิกษุบางพวกเสนอว่า พวกเราจงช่วยกันอำนวยกิจการอันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ บางพวกเสนอว่า พวกเราจงช่วยกันนำข่าวสาสน์อันเป็นหน้าที่ทูตของพวกคฤหัสถ์ บางพวกเสนอว่าพวกเราจักกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ว่า ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน ได้ทุติยฌาณ ได้ตติยฌาณ ได้จตุตถฌาน รูปโน้นเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอรหันต์ รูปโน้นได้วิชชา 3 รูปโน้นได้อภิญญา 6 ดังนี้
ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็นร่วมกันว่า การกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์นี้ประเสริฐสุด แล้วก็พากันกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์
ครั้นต่อมาประชาชนเหล่านั้นพากันยินดีว่า เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ดีแล้ว ที่มีภิกษุทั้งหลายผู้มีคุณพิเศษเห็นปานนี้อยู่จำพรรษา เพราะก่อนนี้ ภิกษุทั้งหลายที่อยู่จำพรรษาของพวกเรา จะมีคุณสมบัติเหมือนภิกษุผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านี้ไม่มีเลย โภชนะชนิดที่พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่บริโภคด้วยตน ไม่ให้บิดามารดา บุตร ภรรยา คนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต จึงภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง
การที่ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้วเข้าเยี่ยมพระภาคนั้นเป็นประเพณี
ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาโดยล่วงไตรมาสแล้ว เก็บเสนาสนะถือบาตรจีวรหลีกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่พระนครเวสาลี เที่ยวจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ป่ามหาวัน กูฏาคารศาลา แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ภิกษุต่างทิศมาเฝ้า
สมัยนั้น พวกภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในทิศทั้งหลาย เป็นผู้ผอม ซูบซีด มีผิวพรรณหมอง เหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ส่วนภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาเป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง
การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งวัคคุมุทาว่า ร่างกายของพวกเธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ยังพอทนได้ ยังพอให้เห็นเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกและไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตพระพุทธเจ้าข้า

พุทธประเพณี
พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์กำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการ 2 อย่าง คือ จักแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งวัคคุมุทาว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาผาสุกและไม่ลำบากด้วยวิธีการอย่างไร
ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า คุณวิเศษของพวกเธอนั้นมีจริงหรือ
พวกภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่มีจริงพระพุทธเจ้าข้า

ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชม อุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์เพราะเหตุแห่งท้องเล่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ท้องอันพวกเธอคว้านแล้วด้วยมีดเชือดโคอันคม ยังดีกว่าที่พวกเธอกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้อง ไม่ดีเลย ข้อที่ว่าดีกว่านั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้คว้านท้องด้วยมีดเชือดโคอันคมนั้น พึงถึงความตายหรือความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้แลเป็นเหตุ
ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส.....ครั้นแล้วทรงกระทำมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย ดังนี้

มหาโจร 5 จำพวก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจร 5 จำพวกนี้มีปรากฎอยู่ในโลก มหาโจร 5 จำพวกเป็นไฉน
มหาโจรบางคนในโลกนี้ย่อมปรารถนาว่า เมื่อไรหนอเราจักมีบุรุษร้อยหนึ่ง พันหนึ่ง แวดล้อม แล้วท่องเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี ทำการเบียดเบียน ตัด เผาผลาญ ต่อมาเขาได้บรรลุความปรารถนานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมปรารถนาว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจักมีภิกษุร้อยหนึ่ง พันหนึ่งแวดล้อม แล้วเที่ยวจาริกไปในตามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และศิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลายนี้เป็นมหาโจร จำพวกที่ 1 มีปรากฎอยู่ในโลก
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้น นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 2 มีปรากฏตัวอยู่ในโลก
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้หมดจด ผู้ประพฤติธรรมอันบริสุทธิ์อยู่ ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 3 ที่ปรากฏอยู่ในโลก
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลายด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขารของสงฆ์ นี้เป็นมหาโจรพวกที่ 4 ปรากฏอยู่ในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจรในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นด้วยอาการแห่งคนขโมย

ทรงบัญญัติปฐมบัญญัติ
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุพวกฝั่งวัดคุมุทาโดยเอนกปริยาย แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก......ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย.....โดยเอนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือเพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ 1.....เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัจธรรม 1 เพื่อถือตามพระวินัย 1
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึ่งยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้

พระปฐมบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะกล่าวอวดอุตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็นอย่างประเสริฐอย่างสามารถ
น้อมเข้ามาในกายตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้หนึ่งผู้ใด ถือเอาก็ตาม ไม่ถือเอาก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าไมรู้อย่างนั้นได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้นได้กล่าวว่าเห็น
ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหา สังวาสมิได้
สิกขาบทแห่งนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย
เรื่องภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ
สมัยนั้น ภิกษุเป็นอันมากสำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้เห็นว่าเห็น ยังไม่ได้บรรลุ ยังไม่ได้ทำให้แจ้งว่าได้ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญได้ว่าบรรลุ ครั้นต่อมา จิตของเธอน้อมไปเพื่อความกำหนัดก็มี เพื่อความขัดเคืองก็มี เพื่อความหลงก็มี จึงรังเกียจว่า.....พวกเราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมัง แล้วแจ้งเรื่องนั้นแก่พระอานนท์ ๆ กราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีอยู่เหมือนกัน ข้อที่ภิกษุทั้งหลายสำคัญมรรคผลที่ตนยังไม่ได้ว่าได้ แต่ข้อนั้นเป็นอัพโพหาริก
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธอพึ่งยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงว่า ดังนี้

พระอนุบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรมอันเป็นความรู้ ความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ
น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแค่นั้น อันผู้หนึ่งผู้ใดถือเอาก็ตามไม่ถือเอาก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้วมุ่งความหมดจด จะฟังกล่าวว่าข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่าไม่รู้ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น
ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้

อานิสงส์แห่งการเรียนพระวินัย
พระวินัยนั้น ภิกษุรักษาดีแล้ว ย่อมได้อานิสงฆ์ คือ
๑. ไม่เดือดร้อนใจ ซึ่งเรียกว่า วิปฏิสาร
๒. ย่อมได้รับความแช่มชื่น เพราะรู้สึกว่าตนประพฤติดีงามแล้ว ไม่ถูกจับกุมลงโทษ
เป็นต้น
๓. จะเข้าสมาคมกับภิกษุผู้มีศีล ก็อาจหาญไม่สะทกสะท้าาน
ส่วนภิกษุผู้ไม่รักษาวินัยดังกล่าวนั้น ย่อมได้รับผลตรงกันข้ามกับอานิสงส์ข้างต้นนั้น

ผลที่มุ่งหมายแห่งพระวินัย ๘
๑. เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นคนเหี้ยมโหด
๒. เพื่อป้องกันความลวงโลก
๓. เพื่อป้องกันความเดือดร้อน
๔. เพื่อป้องกันความประพฤติเลวทราม
๕. เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหาย
๖. เพื่อป้องกันความเล่นซุกซน
๗. เพื่อคล้ายตามความนิยมในครั้งนั้น
๘. เพื่อให้เป็นธรรมเนียมของภิกษุ

ประโยชน์การบัญญัติพระวินัย
๑. สังฆะสุฏฐุตายะ เพื่อความดีแห่งหมู่
๒. สังฆะผาสุตายะ เพื่อความสำราญแห่งหมู่
๓. ทุมมังกูนัง ปุคคะลานัง นิคคะหายะ เพื่อกำจัดบุคคลเพื่อเกื้อยาก (หน้าด้าน)
๔. เปสะลานัง ภิกขูนัง ผาสุวิหารายะ เพื่อความอยู่เป็นผาสุกแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
๕. ทิฏฐิธัมมิกานัง อาสะวานัง สังวะรายะ เพื่อระวังอาสวะที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน
๖. สัมปะรายิกานัง อาสะวานัง ปะฏิฆาตายะ เพื่อกำจัดอาสวะที่จะมีต่อไปข้างหน้า
๗. อัปปะสันนานัง ปะสาทายะ เพื่อคสามเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. ปะสันนานัง ภิยโยภาวายะ เพื่อความเจริญยิ่ง ๆ ของผู้เลื่อมใสแล้ว
๙. สัทธัมมัฏฐิติยา เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
๑๐.วินะยานุคคะหาายะ เพื่ออุดหนุนพระวินัย

วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ความหมายของ พระไตรปิฎก

ความหมายของ พระไตรปิฎก

"ตู้พระไตรปิฏก วัดระฆังโฆสิตาราม"

พระไตรปิฏก แปลว่า ๓ คัมภีร์ เมื่อแยกเป็นคำๆ ว่า พระ + ไตร + ปิฏก คำว่า "พระ" เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง คำว่า "ไตร" แปลว่า สาม คำว่า "ปิฏก" แปลได้ ๒ อย่าง คือ แปลว่า คัมภีร์ หรือแปลว่า กระจาด ตะกร้า

ดังนั้น พระไตรปิฏก จึงหมายถึง สิ่งที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ไม่ไห้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของนั้นเอง

ปิฏก ๓ หรือพระไตรปิฏก แบ่งออกเป็น
๑. พระวินัยปิฏก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
๒. พระสุตตันตปิฏก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วไป
๓. พระอภิธรรมปิฏก ว่าด้วยธรรมล้วนๆ หรือธรรมสำคัญ

พระไตรปิฎก

พระวินัยปิฏก
คัมภีร์ว่าด้วยระเบียบวินัย
พระสุตตันตปิฏก
คัมภีร์ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วๆ ไป มีประวัติ และท้องเรื่องประกอบ เน้นความสำคัญในสมาธิ คือการพัฒนาด้านจิตใจ
พระอภิธรรมปิฏก
คัมภีร์ว่าด้วยหลักธรรม และคำอธิบาย ที่เป็นเนื้อหาวิชาการล้วนๆ ไม่มีประวัติและท้องเรื่องประกอบ
ความสำคัญของพระไตรปิฎก
     ก่อนปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสทำนองสั่งเสียกับพระอานนท์ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานล่วงลับไปแล้ว จะไม่ทรงตั้งภิกษุรูปใดแทนพระองค์ หากแต่ให้ชาวพุทธทั้งหลายยึดพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ ตามพระพุทธพจน์ว่า "โย โว อานนฺท มยาธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา" แปลว่า ดูก่อน อานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น เป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป
     พระพุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นว่า พระธรรมวินัย ถือเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงเท่ากับเป็นองค์พระศาสดาและเป็นตัวแทนพระพุทธศาสนา และพระธรรมวินัยทั้งหลายนั้นล้วนได้ประมวลอยู่ใน พระไตรปิฏก ทั้งสิ้น
อาจกล่าวได้ว่า พระไตรปิฏก มีความสำคัญดังนี้ คือ
๑. เป็นที่รวบรวมไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ คือคำสั่งของพระพุทธเจ้า
๒. เป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เราสามารถเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระไตรปิฏก
๓. เป็นแหล่งต้นเดิมหรือแม่บทในพระพุทธศาสนา
๔. เป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา คำสอนและข้อปฏิบัติใดๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยในพระไตรปิฏก
๕. เป็นคัมภีร์ที่ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ทางวิชาการ

สุชาดา วราหพันธ์, วิถีธรรมวิถีไทย, หน้า ๔๒-๔๓

อุดมคติในทางพระพุทธศาสนา

อุดมคติในทางพระพุทธศาสนา 
Buddhist ideals

             พระพุทธศาสนามีคำสอนที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นสัจนิยมที่สอนเรื่องความจริงของสิ่งทั้งหลาย หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้นเน้นเรื่องการทำชีวิตให้มีความสุขทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และเป้าหมายสูงสุดที่เรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ คือ พระนิพพาน พระนิพพานก็คือเป้าหมายสูงสุดที่ทุกคนมีศักยภาพที่จะเข้าถึงได้ เป็นสภาวะที่หลุดพ้นจากพันธนาการแห่งกิเลสและสิ่งมัวหมองทั้งหลาย แม้ยังมีชีวิตการนิพพานก็คือการไม่มีกิเลสเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลส อยู่ในโลกอย่างเข้าใจโลก อยู่ในโลกอย่างเหนือโลก ในการนี้จึงนำเสนอลักษณะพิเศษหรืออุดมคติของพระพุทธศาสนา เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เห็นและเข้าใจตามเป็นจริง โดยจะแยกเป็นประเด็นไป ดังนี้
 ศาสนาแห่งความมีเหตุผล
                พระพุทธเจ้าได้ทรงถือปัญญาว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด พระพุทธเจ้าสอนคนให้ใช้ เหตุผลมองการณ์ไกลไปในโลก พระพุทธเจ้าทรงอธิบายปรากฏการณ์ของมนุษย์และธรรมชาติ มิใช่โดยความเชื่อหรือความยึดถือในความเหนือเหตุผลที่ไร้เหตุผล แต่โดยการใช้กฎแห่งความเป็นเหตุผลที่เป็นเหตุเป็นผล ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่เป็นรูปธรรมและไม่เป็นรูปธรรมทั้งหมดต้องอยู่ในกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ (นิยาม) กฎธรรมชาติหรือนิยาม ๕ ประเภท ได้กล่าวไว้ตามลำดับใน สุมังคลวิลาสินี ดังต่อไปนี้
.กรรมนิยาม เป็นกฎแห่งกรรมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ นั่นก็คือ กระบวนการแห่งการกระทำ และการให้ผลแห่งการกระทำ ว่าตามกฎข้อนี้คือกฎแห่งกรรม กรรมหรือการกระทำก่อให้เกิดผลิตผลแห่งวิปากกรรม การกระทำที่ดีจะผลิตผลที่ดี และการทำชั่วจะผลิตผลที่ชั่ว
.อุตุนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับวัตถุทางกายภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ, ฤดูกาล และเหตุการณ์ที่เป็นไปตามทางกายภาพ
. พีชนิยาม เป็นกฎธรรมชาติแห่งพันธุกรรม ดังคำกล่าวที่ว่า“ตามที่พืชท่านหว่านลงไปเช่นใด ท่านก็จะได้ผลที่ได้รับจากการกระทำ”
.จิตตนิยาม เป็นกฎทางด้านจิตใจที่เกี่ยวกับงานของจิต เช่น หน้าที่ของวิญญาณในกระบวนการแห่งการเสวยอารมณ์ (เวทนา) และการรับรู้
.ธรรมนิยาม เป็นกฎแห่งธรรมที่ควบคุมความสัมพันธ์และความเกี่ยวเนื่องกันแห่งทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นคือกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทเป็นกฎสากลที่สุด ที่รวมเอานิยาม ๔ ข้างต้นเอาไว้
โดยกฎหมวดนี้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธความเป็นผู้ชี้ขาดของลัทธิเทวนิยม ช่วงชีวิตของมนุษย์ไม่ได้กำหนดโดยเจตนาของพระผู้เป็นเจ้า (อิสสรนิมานเหตุ) แต่โดยกรรมที่เขาทำไว้ สภาวะปัจจุบันของมนุษย์เป็นผลแห่งการกระทำหรือกรรมในอดีตของเขา พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สัตว์มีชีวิตเป็นเจ้าของแห่งการกระทำของตน เป็นผู้ทายาทแห่งการกระทำของตน การกระทำหรือกรรมนั้นเป็นมดลูกที่ตนถือกำเนิดมา การกระทำของตนเป็นเพื่อน เป็นที่พึ่งที่อาศัย ยิ่งไปกว่านั้นความเชื่อที่เหนือเหตุผลในหลายรูปแบบนั้นถูกปฏิเสธโดยพระพุทธเจ้า” ดังที่พระองค์ตรัสว่า
แม้ว่าจะชำระล้างตนเองอยู่เป็นประจำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เช่นแม่น้ำพหุคะ แม่น้ำคยา คนโง่ก็ไม่ได้ทำความสะอาดของกรรมที่เลวทรามของเขาได้ แม่น้ำเหล่านี้จะทำอะไรได้ แม่น้ำเหล่านั้นไม่สามารถจะชำระล้างคนผิดที่เลวร้ายนั้นผู้ซึ่งทำกรรมชั่วมาได้เลย เพราะความบริสุทธิ์เท่านั้นเป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกๆ วันอยู่แล้ว”
คนโง่ผู้ซึ่งเฝ้ามองความดีจะเสียประโยชน์ของตนไป ประโยชน์นั้นเป็นโชคในตัวของมันเอง เพียงแต่ดวงดาวนั้นจะทำอะไรให้เขาได้?”
เป็นเรื่องที่ควรค่าที่กล่าวไว้ในที่นี้ว่า ความมีเหตุมีผลมุมมองที่เหตุผลของพระพุทธศาสนานำไปสู่ความเป็นมิตรกับวิทยาศาสตร์ ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของพระพุทธศาสนาไม่เคยมีข้อวิภาษกับวิทยาศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ เนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าพระพุทธศาสนาปฏิเสธความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า และความเชื่อที่ไร้เหตุซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของวิทยาศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้นทั้งพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในเรื่องกฎแห่งธรรมชาติ ในเรื่องความเป็นเหตุเป็นผลนั้นเป็นรากฐานร่วมกันมีความเป็นไปกันได้ระหว่างพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ อัลเบริต ไอสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ ๒๐ กล่าวไว้ว่า ศาสนาในอนาคตจะเป็นศาสนาแห่งสากล ศาสนานั้นควรจะอยู่เหนือพระผู้เป็นเจ้า หลีกเลี่ยงความยึดมั่นถือมั่นและวิชาที่ว่าด้วยทฤษฎี ครอบคลุมทั้งทางด้านธรรมชาติและทางด้านจิตวิญญาณ ศาสนานั้นควรจะตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความหมายทางศาสนาที่เกิดมาจากประสบการณ์แห่งทุกสิ่งทุกอย่างทั้งทางธรรมชาติและจิตวิญญาณในฐานะที่เป็นหน่วยที่มีความหมายแห่งศาสนา และศาสนาที่ว่านี้เป็นศาสนาในอนาคต พระพุทธศาสนาให้คำตอบต่อนิยามนี้ได้ แล้วเขากล่าวต่อไปว่า ถ้าจะมีศาสนาซักศาสนาหนึ่งที่จะครอบคลุมความจำเป็นทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ศาสนานั้นก็ควรจะเป็นพระพุทธศาสนา

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560

หลักธรรมสำคัญในพระไตรปิฎก


                          หลักธรรมสำคัญในพระไตรปิฎก


ภาพรวมหลักธรรมสำคัญในพระไตรปิฎก

     หลวงพ่อทัตตชีโว ได้ให้ภาพรวมหลักธรรมสำคัญในพระไตรปิฎกไว้อย่างชัดเจน ดังภาพที่แสดงไว้ในหน้าที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลักธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎก มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติบรรลุ "นิพพาน" อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย

สำหรับหลักธรรมต่างๆ ในพระไตรปิฎกอันเป็นหลักปฏิบัติเพื่อไปสู่นิพพานนั้น เป็นหลักธรรมที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทุกหมวดไม่มีความขัดแย้งกันสามารถย่อได้และขยายได้หากย่อจนถึงที่สุดก็จะเหลือเพียงข้อเดียวคือ "ความไม่ประมาท" หากขยายความแล้วก็จะได้มากถึง "84,000 ข้อ หรือ พระธรรมขันธ์" แบ่งเป็นพระวินัย 21,000 ข้อ พระสูตร 21,000 ข้อ และพระอภิธรรม 42,000 ข้อ

         นอกจากนี้ หลักธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎกอาจจะแบ่งให้เหลือ 3 ข้อก็ได้ คือ ละชั่วทำดี และทำใจให้ผ่องใสหลักธรรม 3 ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไตรสิกขา คือ ศีลสิกขาจิตสิกขา และปัญญาสิกขา หากจะขยายจาก 3 ข้อนี้ ให้เป็น 8 ข้อ ก็ได้เรียกว่า มรรคมีองค์ 8 อันประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปปะสัมมาวาจาสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ โดยสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ จัดอยู่ในปัญญา สิกขาสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ จัดอยู่ในศีลสิกขาสัมมาวายามะสัมมาสติ และสัมมาสมาธิจัดอยู่ในจิตสิกขาหลักธรรมในแต่ละหมวดมีรายละเอียดโดยย่อดังต่อไปนี้


  

นิพพาน

         นิพพาน หมายถึง การดับกิเลส และกองทุกข์ทั้งปวง นิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแบ่งนิพพานออกเป็น 2 ประการ คืออุปาทิเสสนิพพาน และ อนุปาทิเสสนิพพาน
          1) อุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้วหลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เป็นผู้มีราคะ โทสะ และโมหะสูญสิ้นแล้วแต่ยังเป็นผู้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ 5 ยังไม่บุบสลาย
         หลวงพ่อทัตตชีโว อธิบาย อุปาทิเสสนิพพานไว้ว่า เป็นพระนิพพานในตัวบางครั้งก็เรียกว่า "นิพพานเป็น" หมายความว่า ในขณะที่อา วะกิเลสูญสิ้นไปหมดแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีขันธ์ 5 อยู่ มีธรรมกายปรากฏอยู่ในตัว ทำให้รู้สึกเป็นสุขเหมือนอยู่ในอายตนนิพพานอย่างแท้จริงเพียงแต่ยังอาศัยกายมนุษย์อยู่เท่านั้น
         2) อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้วหลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้ของภิกษุนั้นเป็น ภาพที่กิเลส มีตัณหา เป็นต้น ครอบงำไม่ได้อีก
       หลวงพ่อทัตตชีโว อธิบายอนุปาทิเสสนิพพานไว้ว่า เป็นนิพพานที่อยู่นอกตัว บางครั้งก็เรียกว่า "นิพพานตาย" หมายความว่าเมื่อขันธ์ 5 แตกดับสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษแล้ว ธรรมกายที่อยู่ใน อุปาทิเสสนิพพาน จึงตกศูนย์เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ณ จุดนี้เองที่เรียกว่า "อายตนนิพพาน" ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตั้งจิตปรารถนาจะไปถึง

3. ความไม่ประมาท
        ความไม่ประมาท หมายถึง ความไม่เลินเล่อ ไม่พลั้ง ไม่เผลอ มีสติเสมอส่วนความประมาท คือ การขาดสติ ความพลั้งเผลอ ความไม่ประมาทเป็นหลักธรรมใหญ่ ซึ่งรวมธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎกไว้ในข้อนี้เพียงข้อเดียว
       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปทสูตรว่า รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้างรอยเท้าช้าง บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ารอยเท้าสัตว์เหล่านั้นเพราะเป็นรอยใหญ่แม้ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดนั้นมีความไม่ประมาทเป็นมูลรวมลงในความไม่ประมาทความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาทพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ 8
      ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระองค์ก็ได้ตรัสพระปัจฉิมวาจาไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด" พระดำรัสนี้ ถือว่าเป็นการสรุปหลักธรรมทั้งหมด ที่พระองค์ตรัสสอนมาตลอด 45 พรรษาให้เหลือเพียงข้อเดียวคือ ความไม่ประมาทเท่านั้น
       พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้อธิบายขยายความเรื่องความไม่ประมาท ไว้ในกัณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องปัจฉิมวาจาว่า
        ความประมาท คือ เผลอไป ความไม่ประมาท คือ ความไม่เผลอ ไม่เผลอละใจจดใจจ่อทีเดียว...ท่านจึงได้อุปมาไว้ ไม่ประมาท ไม่เผลอในความเสื่อมไปในปัจฉิมวาจา นึกถึงความเสื่อมอยู่เสมอ นึกหนักเข้าๆ แล้วใจหาย นี่เรามาคนเดียวหรือ นี่เราก็ตายคนเดียว บุรพชนต้นตระกูลของเราไปไหนหมด ตายหมด เราล่ะก็ตายแบบเดียวกัน ตกใจละคราวนี้ ทำชั่วก็เลิกละทันที รีบทำความดีโดยกะทันหันทีเดียว เพราะไปเห็นอ้ายความเสื่อมเข้า ถ้าไม่เห็นความเสื่อมละก็ กล้าหาญนักทำชั่วก็ได้ ด่าว่าผู้หลักผู้ใหญ่ได้ตามชอบใจ 

4. ละชั่วทำดีทำใจให้ผ่องใส
      หลักธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎก นอกจากจะรวมลงในความไม่ประมาทเพียงข้อเดียวแล้ว ยังสามารถขยายออกเป็น 3 ข้อได้ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาปทานสูตรเรื่องโอวาทปาฏิโมกข์ว่า
(1) การไม่ทำบาปทั้งสิ้น (ละชั่ว)
(2) การยังกุศลให้ถึงพร้อม (ทำดี)
(3) การทำจิตของตนให้ผ่องใส(ทำใจให้ผ่องใส)
           นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
       (1) การไม่ทำบาปทั้งสิ้น มาจากภาษาบาลีว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ หมายถึง ไม่ทำชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ สพฺพปาปสฺส อกรณํ นี้ ครอบคลุมพระวินัยปิฎกทั้งหมด หากจัดเข้าในไตรสิกขาก็จะตรงกับ "ศีลสิกขา"
       (2) การยังกุศลให้ถึงพร้อม มาจากภาษาบาลีว่า กุสลสฺสูปสมฺปทา หมายถึง ทำความดีให้มีขึ้นด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ กุสลสฺสูปสมฺปทา นี้ ครอบคลุมพระสุตตันตปิฎกทั้งหมดหากจัดเข้าในไตรสิกขาก็จะตรงกับ "จิตสิกขา"
        (3) การทำจิตของตนให้ผ่องใสมาจากภาษาบาลีว่า สจิตฺตปริโยทปนํ หมายถึง ทำจิตใจของตนให้ผ่องใส สจิตฺตปริโยทปนํ นี้ ครอบคลุมพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด หากจัดเข้าในไตรสิกขาก็จะตรงกับ "ปัญญาสิกขา"

5. มรรคมีองค์ 8

      มรรค แปลว่า ทาง, หนทาง มรรคมีองค์ 8 จึงหมายถึง หนทางปฏิบัติหรือข้อปฏิบัติ 8 ประการ เพื่อให้ถึงความดับทุกข์ นั่นคือการได้บรรลุนิพพานนั่นเองมรรคมีองค์ 8 เป็นธรรมข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์คือตัณหา) นิโรธ (ความดับทุกข์) และมรรคคือหนทางดับทุกข์ เมื่อกล่าวถึงมรรคเพียงข้อเดียวแต่ก็มีความหมายเชื่อมโยงไปถึงอริยสัจอีก 3 ข้อที่เหลือด้วย เพราะธรรมทั้ง 4 ข้อมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสมรรคมีองค์ 8 ไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระปฐมเทศนาหรือเทศนาครั้งแรกของพระองค์พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ ได้สรุปมรรคมีองค์ 8 ไว้ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่ายดังนี้
(1) สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจถูก โดยสามารถตัดสินได้อย่างถูกต้องว่า อะไรถูกผิดอะไรดีชั่ว อะไรบุญบาป อะไรควรไม่ควรทำ
(2) สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดถูก โดยเลือกคิดเฉพาะในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
(3) สัมมาวาจา คือ การพูดถูก โดยเลือกพูดเฉพาะในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
(4) สัมมากัมมันตะ คือ การทำถูก โดยเลือกทำแต่ในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
(5) สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพถูก โดยเลือกประกอบอาชีพที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
(6) สัมมาวายามะ คือ การเพียรพยายามถูก โดยเพียรละเว้นความชั่ว เพียรทำความดีและเพียรกลั่นใจให้ผ่องใส
(7) สัมมาสติ คือ ความระลึกถูก โดยพยายามรักษาใจให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ในการคิด พูด และทำอยู่เป็นปกติ
(8) สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นถูก โดยพยายามประคับประคองในขณะทำภาวนาให้หยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายอย่างต่อเนื่องถูกส่วนเป็นปกติ จนกระทั่งเกิดความ ว่างขึ้นในใจที่นำไปสู่การเห็นธรรมะที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์อยู่ในตัว
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปริกขารสูตรว่า องค์แห่งมรรค 7 ประการคือ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิถึงสัมมาสติ เป็นองค์ประกอบของสัมมาสมาธิ หรือประชุมลงในสัมมาสมาธิ ดังพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสองค์แห่งสมาธิ 7 ประการ คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะสัมมาสติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เอกัคคตาจิต(ความมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว หรือ การที่จิตเป็นสมาธิ) ประกอบด้วยองค์ 7 ประการนี้เรียกว่าอริยสมาธิ...
     พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ก็เคยกล่าวไว้เช่นกันว่า "มรรคทั้ง 7 ประการจะประชุมรวมกันลงในสัมมาสมาธินี้" ด้วยเหตุนี้สัมมาสมาธิจึงมีความสำคัญสูงสุดในบรรดามรรคทั้งปวง ทำนองเดียวกับความไม่ประมาทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะการที่บุคคลจะเป็นผู้ "ไม่ประมาท" ได้อย่างสมบูรณ์ บุคคลผู้นั้นจะต้องมีสติกำกับตนเองอยู่ตลอดเวลา การที่บุคคลนั้นๆ จะมีสติกำกับตนเองอยู่ตลอดเวลา เขาจะต้องฝึกสัมมาสมาธิมาอย่างดีแล้ว จนใจของเขาจรดนิ่งอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ตลอดเวลา

6. ไตรสิกขา

ไตรสิกขา หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ต้องศึกษา 3 ประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงไตรสิกขาไว้ในภาวสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไตรสิกขาเป็นไฉน ไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เมื่อใด เธอเป็นผู้มีสิกขาอันได้ศึกษาแล้วในไตรสิกขานี้ เมื่อนั้นภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุดทุกข์เพราะละมานะได้โดยชอบฯ




      พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺท โร) ได้อธิบายขยายความเรื่องไตรสิกขาไว้ว่ามี 2 ระดับ คือ ระดับปกติหรือระดับต้น และระดับสูงหรือเกินระดับปกติขึ้นไป
       ไตรสิกขาระดับต้นนั้น จะเรียกว่า ศีล จิต(สมาธิ) และ ปัญญา หรือเรียกว่า ศีลสิกขาจิตสิกขา (สมาธิสิกขา) และปัญญาสิกขา ไตรสิกขาระดับต้นนี้ เป็นไตรสิกขาในระดับ "รู้" หมายถึง รู้ว่าไตรสิกขามีอะไรบ้างเมื่อรู้แล้วก็ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขานั้นเมื่อปฏิบัติแล้วก็จะเป็นเหตุให้เข้าถึงไตรสิกขาระดับสูงต่อไป
      ไตรสิกขาระดับสูงหรือเกินระดับปกติขึ้นไปจะเรียกว่า อธิศีล อธิจิต และ อธิปัญญา หรือ เรียกว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ไตรสิกขาระดับสูงนี้ เป็นไตรสิกขาในระดับ "เห็น" หมายถึง ได้ปฏิบัติสมาธิจนสามารถ "เห็น" ได้ด้วยตนเองว่าไตรสิกขาในตัวเรามีอะไรบ้าง กล่าวคือ ได้ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ในตัวที่ละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไปนั่นเอง
      คำว่า "อธิ" ในคำว่า อธิศีล เป็นต้น แปลว่า ยิ่ง เกิน หรือ ล่วง หมายถึง ไตรสิกขา ที่ยิ่งกว่า หรือเกินกว่า หรือล่วงพ้นจากไตรสิกขาในระดับต้น

7. พระไตรปิฎก


      พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อขยายความแล้วจะได้มากถึง 84,000 ข้อ หรือ 84,000 พระธรรมขันธ์ โดยจัดอยู่ในพระวินัยปิฎก 21,000 ข้อ จัดอยู่ในพระสุตตันตปิฎก 21,000 ข้อ และจัดอยู่ในพระอภิธรรมปิฎก 42,000 ข้อ
       พระไตรปิฎกหากนำมาเชื่อมโยงกับไตรสิกขาจะได้ดังนี้ คือ
พระวินัยปิฎก คือ ศีลสิกขา
สุตตันตปิฎก คือ จิตสิกขา
พระอภิธรรมปิฎก คือ ปัญญาสิกขา
    








8. นิยาม 5



     นอกจากหลักธรรมทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีธรรมอีกหมวดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ แต่ปรากฏอยู่ในอรรถกถาคือเรื่องนิยาม 5 ซึ่งจะใช้เป็นหัวข้อสำคัญในการเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ ในบทวิทยาศาสตร์ในพระไตรปิฎก
     นิยาม หมายถึง ความแน่นอน หรือหากใช้ในภาษาร่วม มัยที่เข้าใจได้ง่ายๆ นิยามก็อาจแปลว่า "กฎ" พระอรรถกถาจารย์ได้จำแนกนิยามไว้ 5 ประการคือ พีชนิยาม อุตุนิยาม จิตตนิยาม กรรมนิยาม และ ธรรมนิยาม2 กฎทั้ง 5 ประการนี้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในโลกและในอนันตจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามกฎทั้ง 5 ประการนี้ทั้งสิ้น
     1) พีชนิยาม (Biological Laws) หมายถึง กฎของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในทางวิทยาศาสตร์ใช้คำว่า กฎทางชีววิทยา กล่าวคือ เป็นกฎธรรมชาติที่ควบคุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เช่น เมื่อเรานำเมล็ดข้าวเปลือกไปปลูก ต้นไม้ที่งอกออกมาจะต้องเป็นต้นข้าวเสมอหรือเมื่อช้างคลอดลูกออกมา ก็ย่อมเป็นลูกช้างเสมอ หรือถ้าเป็นมนุษย์เมื่อคลอดลูกออกมา ก็ย่อมเป็นมนุษย์เสมอ ความเป็นระเบียบหรือความแน่นอนนี้ ในทางพุทธศาสนา กล่าวว่า เป็นผลมาจากการควบคุมของพีชนิยาม
     2) อุตุนิยาม (Physical and Chemical Laws) หมายถึง กฎที่ควบคุมสิ่งไม่มีชีวิตทุกชนิด เช่น ดิน ฟ้า อากาศสาร วัตถุ ภพภูมิต่างๆ ตลอดอนันตจักรวาล ในทางวิทยาศาสตร์ใช้คำว่า กฎทางฟิสิกส์ ครอบคลุมตั้งแต่ที่เล็กที่สุด ได้แก่ อนุภาค อะตอม ไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่โต เช่น โลก กาแล็กซี่ และ เอกภพ ปรากฏการณ์ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ฤดูกาล แม้กระทั่งการเกิดและการดับสลายของโลกก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติคือ อุตุนิยามนี
      3) กรรมนิยาม (The law of Karma) หมายถึง กฎแห่งกรรม กรรมคือการกระทำแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ กรรมดีและกรรมชั่ว กรรมดีย่อมตอบ นองในทางดี กรรมชั่วย่อมตอบสนองในทางชั่ว
      4) จิตตนิยาม (Psychic law) หมายถึง กฎการทำงานของจิตใจ พระพุทธศาสนาสอนว่า คนเราประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 2 ส่วน คือ ร่างกายและจิตใจ ในส่วนของจิตใจนั้นมีความสำคัญในฐานะเป็นผู้สั่งการทุกอย่างให้ร่างกายปฏิบัติตาม หากเปรียบร่างกายเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ จิตใจก็เปรียบเหมือนผู้ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ (User)
      5) ธรรมนิยาม (The law of cause and effect) มีความหมาย 2 นัย คือ นัยที่ 1 หมายถึง กฎแห่งเหตุและผลของสรรพสิ่ง ดังคำกล่าวที่ว่า เพราะมีสิ่งนี้ จึงมีสิ่งนี้ขึ้น หลักธรรมต่างๆส่วนใหญ่ก็จัดอยู่ในหลักธรรมนิยาม เช่น ปฏิจจสมุปบาท (อวิชชาทำให้เกิดสังขารสังขารทำให้เกิดวิญญาณ วิญญาณทำให้เกิดนามรูป นามรูปทำให้เกิดสฬายตนะ สฬายตนะ ทำให้เกิดผัสสะ ผัสสะทำให้เกิดเวทนา เวทนาทำให้เกิดตัณหา ตัณหาทำให้เกิดอุปาทาน อุปาทานทำให้เกิดภพ ภพทำให้เกิดชาติ ชาติทำให้เกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและ อุปายา) อริยสัจ 4 (สมุทัย คือตัณหา ทำให้เกิดทุกข์ มรรคนำไปสู่นิโรธ คือความดับทุกข์) เป็นต้น
    



แหล่งที่มา : <http://www.kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=14327>(9 พฤษภาคม 2560)

x

เนื้อหาของพุทธปรัชญาในพระไตรปิฎก

พุทธปรัชญา

         พระพุทธเจ้าหรือพระมานเดิมว่า เจ้าชายสิตถะ ผู้เป็นต้นกำเนิดของพุทธปรัชญา แม้เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงสุขสำราญเพียบพร้อมไปด้วยสมบัติ และห้อมล้อมไปด้วยบริวารมากมายก็ตาม แต่พระองค์ก็มิได้ทรงหลงหรือคลั่งไคล้อยู่กับสิ่งเหล่านั้น พระองค์ทรงสนพระทัยในปัญหาต่าง ๆ อยู่เสมอ ปัญหาที่กำลังคุกคามต่อประชาชนอยู่ในขณะนั้น ก็คือความทุกข์ยากของประชาชน พระองค์ทรงคิดว่าปัญหาทั้งหลายมีทางที่จะแก้ได้ เจ้าชายสิทธัตถะจึงทรงตัดสินพระทัยออกผนวช ขณะที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 29 พรรษา เพื่อที่จะทำการค้นหาหนทางแก้ความทุกข์ยากทั้งปวง หลังจากที่พระองค์ได้ทรงอธิษฐานการบวชในเพศของบรรพชิตแล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าศึกษาในสำนักของคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง สำนักของอาฬารดาบสและอุทกดาบส ก็เป็นสำนักหนึ่งที่พระองค์ได้เคยเข้าไปศึกษามาจนจบแล้ว เมื่อพระองค์ได้ศึกษาค้นคว้าจากสำนักอาจารย์ต่าง ๆ แล้ว พระองค์ก็พบว่าคำสอนและวิธีปฏิบัติของบรรดาอาจารย์เหล่านั้นมิใช่หนทางแห่งการดับทุกข์ได้หมดสิ้นดังนั้น พระองค์จึงออกมาค้นหาสัจธรรมด้วยพระองค์เอง พระพุทธองค์เข้าสู่ปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนที่พระองค์จะเข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ได้ประทานปัจฉิมโอวาทว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายให้รู้ สังขารทั้งหลายมีการเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดาเธอทั้งหลาย จงยังกิจของตนและผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแต่ตั้งให้สาวกรูปใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ โดยพระองค์ตรัสว่า พระธรรมวินัยเป็นศาสนาแทนพระองค์ การที่จะเห็นพระพุทธองค์นั้นก็คือการเห็นธรรมวินัย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ใครเห็นธรรมว่าเห็นเรา”

ความหมายและหลักคำสอนพื้นฐานในพุทธปรัชญา 
พุทธปรัชญา คือ หลักคำสอนเกี่ยวกับความจริง (สัจธรรม) และหลักปฏิบัติ (จริยธรรม) บางประการของพระพุทธศาสนาที่นำมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยการใช้เหตุผลตามวิธีการของปรัชญา ตามคำนิยามนี้หมายความว่า พุทธปรัชญาจะจำกัดวงอยู่ในส่วนที่เป็นศาสนธรรมของพระพุทธศาสนาเท่านั้น


คัมภีร์ของพุทธปรัชญา 
คัมภีร์ที่สำคัญของพุทธปรัชญาเรียกว่า “พระไตรปิฎก” ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รวมเอาหลักธรรมของพุทธปรัชญามารวมไว้เป็นหมวดหมู่ หลักธรรมเหล่านั้นมีทั้งหมด 84,000 พระธรรมขันธ์ นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้เขียนขึ้นมามากมาย เช่น พระอรรถกถาจารย์ได้เขียนคำอธิบายข้อความในพระไตรปิฎกขึ้น เรียกว่า “อรรถกถา” พระฎีกาจารย์ได้เขียนหนังสืออธิบายข้อความในอรรถกถาเรียกว่า “ฎีกา” และพระอนุฎีกาได้เขียนหนังสืออธิบายฎีกาอีกต่อหนึ่ง เรียกว่า “อนุฎีกา” นักปราชญ์ทางพุทธศาสนายังเขียนหนังสือเพื่ออธิบายอนุฎีกาอีก เรียกว่า “โยชนา” นอกจากนี้ ก็ยังมีหนังสือที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายหัวข้อธรรมเฉพาะเรื่องอีกเรียกว่า “ปกรณ์วิเสส” เช่น มงคลทีปนี วิสุทธิมรรค เป็นต้น ซึ่งเป็นผลงานการรจนาของพระมหาเถระผู้มีความเชี่ยวชาญในศาสนาพุทธหลักธรรมในพระไตรปิฎกถือว่าเป็น “พุทธพจน์” หรือ “พระบาลี” คือเป็นถ้อยคำหรือคำพูดที่พระพุทธองค์ตรัสเอง และถือว่าเป็นหลักฐานหรือข้อมูลขั้นที่หนึ่ง (ข้อมูลขั้นต้น) ในการศึกษาหรือนำมาอ้างอิง แต่บางตอนอาจจะเป็นถ้อยคำหรือคำพูดของสาวกบ้าง แต่พระพุทธองค์ก็ทรงรับรองอีกครั้งหนึ่ง

หลักธรรมในพุทธปรัชญาทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ นี้ แบ่งออกได้เป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ ตามลักษณะของคำสอน พระไตรปิฎก แปลว่า ตะกร้า 3 หมายถึงการจัดหมวดหมู่ของหลักธรรมไว้เป็น 3 หมวดแล้วเรียกชื่อตามหมวดของหลักธรรมนั้น ๆ ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก และแต่ละหมวดก็การแบ่งย่อยออกไปอีก ดังรายละเอียด ดังนี้

พระวินัยปิฎก มีตัวข้อธรรมที่เรียกว่า “พระธรรมขันธ์” ทั้งหมดมี 21,000 พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น 5 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ 
(1) อาทิกรรม (สุตตวิภังค์)
(2) ปาจิตตีย์ (ภิกขุณีวิภังค์)
(3) มหาวรรค
(4) จุลวรรค
(5) ปริวาร

พระสุตตันปิฎก มีหัวธรรมทั้งหมด 21,000 พระธรรมขันธ์ เป็นคำสอนที่ได้มาจากการบันทึกการเทศนาของพระพุทธเจ้า รายละเอียดในแต่ละเรื่องจะบอกว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด มีใครเป็นผู้สดับธรรม ทรงแสดงธรรมเรื่องอะไร และเมือจบพระธรรมเทศนาแล้ว ปรากฏผลอย่างไรบ้าง พระสุตตันตปิฎกแบ่งออกเป็น 5 คัมภีร์ใหญ่ ๆ คือ 
(1) ทีฆนิกาย
(2) มัชฌิมนิกาย
(3) สังยุตตนิกาย
(4) อังคุตตนิกาย
(5) ขุททกนิกาย

พระอภิธรรมปิฎก มีหัวข้อธรรมทั้งหมด 42,000 พระธรรมขันธ์ เป็นคำสอนเกี่ยวกับปรมัตถธรรมล้วน ๆ เป็นชั้นสูง ละเอียดลึกซึ้ง การพรรณนาหรือการอธิบายไม่ระบุบุคคล สถานที่ และกาลเวลา แบ่งออกเป็น 7 คัมภีร์ คือ 
(1) สังคณี
(2) วิภังค์
(3) ธาตุกถา
(4) ปุคคลบัญญัติ
(5) กถาวัตถุ
(6) ยมก
(7) ปัฏฐาน

พุทธธรรมที่สำคัญ 
พระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนอภิปรัชญาที่ขาดจากภาคปฏิบัติ พระองค์จึงไม่ทรงเน้นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาอภิปรัชญาในสมัยนั้นนิยมคิดกัน แต่ทรงสอนเน้นในเรื่องการปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์เป็นสำคัญ การที่พระองค์ทรงเพิกเฉยต่อปัญหาอภิปรัชญาก็ด้วยเหตุผลที่ว่า การถกเถียงในเรื่องของโลกว่า เที่ยงหรือไม่? เป็นต้น ตามทัศนะของพุทธเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ ไม่ใช้เหตุที่จะนำมหาชนเข้าสู่จุดหมายปลายทางแห่งชีวิตอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม แม้พระพุทธองค์ทรงไม่พยากรณ์ในเรื่องทั้งหลายดังกล่าว แต่ในพุทธธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ก็เป็นการตอบปัญหาในเรื่องอภิชญาอย่างชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว ซึ่งจะได้กล่าวถึงพุทธธรรมบางหัวข้อ เป็นต้นลำดับ ดังต่อไปนี้ ทุกข์เป็นสำคัญ การที่พระองค์ทรงเพิกเฉยต่อปัญหาอภิปรัชญาก็ด้วยเหตุผลที่ว่า การถกเถียงในเรื่องของโลกว่า เที่ยงหรือไม่? เป็นต้น ตามทัศนะของพุทธเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ ไม่ใช้เหตุที่จะนำมหาชนเข้าสู่จุดหมายปลายทางแห่งชีวิตอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม แม้พระพุทธองค์ทรงไม่พยากรณ์ในเรื่องทั้งหลายดังกล่าว แต่ในพุทธธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ก็เป็นการตอบปัญหาในเรื่องอภิชญาอย่างชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว ซึ่งจะได้กล่าวถึงพุทธธรรมบางหัวข้อ เป็นต้นลำดับ ดังต่อไปนี้

อริยสัจ 4 (The Four Noble Truths) 
อริยสัจ แปลตามอักษรว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของท่านผู้ประเสริฐ (อริยะ) หรือ ความจริงอันทำให้บุคคลเป็นผู้ประเสริฐ ดังนั้น ผู้ใดรู้แจ้งเห็นจริงในอริสัจ ผลนั้นก็จะกลายเป็นพระอริยบุคคลหากจะกล่าวโดยสรุป คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดอาจประมวลลงในอริยสัจ เป็นต้นว่า หลักขันธ์ 5 หลักไตรลักษณ์ หลักธรรมและหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นอาทิ ล้วนแต่เป็นเรื่องของทุกข์สัจทั้งสิ้น การที่พระพุทธองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ก็เพราะทรงตรัสรู้อริยสัจ 4 นี่เอง ด้วยเหตุนี้ อริยสัจ 4 จึงมีความสำคัญมาก อาจกล่าวได้ว่า อริยสัจ 4 เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาทีเดียว

แหล่งที่มา <https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/buddhist_philosophy/index.html
(สิงหาคม 2543)

การบัญญัติสิกขาบทของพระพุทธเจ้า (บัญญัติพระวินัย)

การบัญญัติสิกขาบทของพระพุทธเจ้า (บัญญัติพระวินัย) การบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้ามีที่มาและมีขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้ ในสมัยหนึ่ง พระผู้มี...